วันเสาร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2557

อาหารท้องถิ่นของภูมิภาคโฮคุริกุ




อาหารท้องถิ่นของภูมิภาคโฮคุริกุ 

สาเกญี่ปุ่น (จังหวัดนีงาตะ)


 

         นิฮอนชู (เหล้าญี่ปุ่น) เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ทำจากข้าวและเมล็ดข้าวมอลต์ กลั่นด้วยวิธีดั้งเดิมแบบญี่ปุ่น เหล้าเรียกน้ำย่อยประเภทนี้ซึ่งเป็นที่รู้จักทั่วโลกในชื่อสาเกสามารถนำมาอุ่นให้ร้อนทั้งขวด ที่อุณหภูมิที่เหมาะสม หรือจะเสิร์ฟที่อุณหภูมิห้องหรือแช่เย็นก็ได้ สาเกรสชาติดีต้องอาศัยข้าวที่ปลูกในผืนดินอุดมสมบูรณ์และมีน้ำสะอาดเลี้ยงไม่ขาด สาเกชั้นเลิศของนีงาตะไม่ได้เป็นผลผลิตจากข้าวและน้ำคุณภาพดีเท่านั้น แต่ยังเป็นผลมาจากความหนาวเย็นในฤดูหนาวซึ่งช่วยบ่มสาเกให้มีรสชาติเป็นเลิศ นีงาตะมีโรงกลั่นชั้นยอดที่เรียกว่า “เอจิโกไต” และแบรนด์สาเกจากนีงาตะมีชื่อเสียงไปทั่วประเทศ ซึ่งผับหลายแห่งจะมีหลายแบรนด์ให้เลือกดื่ม

โฮตะรุอิกะ (จังหวัดโทะยะมะ)

 
      
      โฮตะรุอิกะ (ปลาหมึกหิ่งห้อย) เป็นปลาหมึกพันธุ์เล็กที่พบในอ่าวโทะยะมะ ชื่อปลาหมึกหิ่งห้อยมาจากลักษณะเรืองแสงของผิวปลาหมึกที่จะปล่อยแสงสีขาวอมฟ้า เหมือนหิ่งห้อยเมื่อมีสิ่งเร้าภายนอกมากระตุ้น โดยปกติปลาหมึกจะอาศัยอยู่ในน้ำลึก แต่จะขึ้นมาบริเวณน้ำตื้นเพื่อวางไข่ในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม การชมฝูงปลาหมึกหิ่งห้อยแหวกว่ายในบริเวณอ่าวโทะยะมะเป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันใน ฤดูใบไม้ผลิของชาวโทะยะมะ ปลาหมึกหิ่งห้อยสามารถรับประทานเป็นซาชิมิ ต้มหรือหมักในโชยุ ปรุงรสด้วยน้ำส้มสายชูและมิโสะ หรือทานแบบชาบู-ชาบู (ต้มในกระทะบนโต๊ะ) ก็ได้ ถ้านำไปตากแห้งสักคืนแล้วย่างสักเล็กน้อยจะได้รสชาติขมนิดๆ เหมาะกับเป็นกับแกล้มเวลาดื่มสาเกอย่างยิ่ง


จิบุนิ (จังหวัดอิชิคะวะ)

 

       จิบุนิเป็นอาหารพื้นเมืองของคะนะซะวะ ทำโดยใช้เนื้อเป็ดหั่นบางๆ ชุบแป้งหรือแป้งมัน แล้วนำไปต้มกับฟุ (โปรตีนข้าวเป็นชิ้นเหมือนขนมปังตากแห้ง) เห็ดชิตาเกะ หน่อไม้ และผักชีญี่ปุ่นในน้ำซุปที่ทำจากน้ำสต็อก มิริน (เหล้าหวานสำหรับปรุงอาหาร) น้ำตาล เกลือ โชยุ และสาเก แป้งหรือแป้งมันที่อยู่ด้านนอกจะช่วยรักษารสชาติของเนื้อและทำให้น้ำสต็อกข้นขึ้น ขูดวาซาบิลงไปก่อนรับประทานเพื่อเพิ่มรสชาติ ชื่อจิบุอาจมาจากชื่อของผู้คิดค้นอาหารเมนูนี้ หรือมาจากเสียงจิบุ-จิบุที่ได้ยินเวลาทำเมนูนี้ แต่เดิมใช้เป็ดป่าในการทำจิบุนิ แต่เนื่องจากปัจจุบันค่อนข้างหายากและมีราคาแพง จึงใช้นิยมใช้เป็ดไอกาโมะ (พันธุ์ผสมระหว่างเป็ดป่ากับเป็ดเลี้ยง) หรือไก่แทน




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น